การกรอกและยื่นแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้าง (ประกันสังคม สปส.1-01, สปส.1-03)

PXO_SSO_การกรอกและยื่นแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้าง (ประกันสังคม)_Payroll Outsourcing

ต่อจากบทความที่แล้วเรื่อง การขึ้นทะเบียนนายจ้างมีขั้นตอนอย่างไร (ประกันสังคม) วันนี้เราจะมาแนะนำการกรอกแบบฟอร์มและยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างกันนะคะ  แต่ก่อนจะกรอกแบบฟอร์มกันคุณทราบหรือไม่ว่านายจ้างต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียนเมื่อใด? เอกสารอะไรบ้างที่ต้องใช้ในวันยื่นแบบขึ้นทะเบียน?  และจะต้องไปขึ้นทะเบียนที่ไหน?

 

นายจ้างต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียนฟอร์มขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างเมื่อใด?

เมื่อนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป (มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน) ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน และเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ ภายใน 30 วัน เช่นกัน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

 

เอกสารอะไรบ้างที่ต้องใช้ในวันยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง?

สำหรับนายจ้าง

กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล/สำนักงานผู้แทน/บุคคลธรรมดา/สำนักงานตัวแทน/ร้านค้า/สถานพยาบาล/โรงเรียน/ผู้รับเหมาช่วง/ผู้รับเหมาค่าแรง

  1. แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01)
  2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์
  3. สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (ภ.พ.20) หรือสำเนาคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) หรือสำเนาธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20) หรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
  4. แผนที่ตั้งและภาพถ่ายของสถานประกอบกร
  5. หลักฐานแสดงตัวของนายจ้าง
    • กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม/หุ้นส่วนผู้จัดการที่มีสัญชาติไทย ใช้บัตรประจำตัวประชำชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
    • กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม/หุ้นส่วนผู้จัดการที่เป็นคนต่างด้าว ใช้ PASSPORT หรือ WORK PERMIT หรือ VISA หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือหลักฐานการได้รับอนุญาต ให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเขาเมืองของผู้มีอำนาจผูกพันนิติบุคคล
  6. สำเนาหนังสือสัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่
  7. หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอำกรแสตมป์ตามที่ ประมวลรัษฎากรกำหนด) พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชำชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญ/นิติบุคคลอาคารชุด/หมู่บ้าน/มูลนิธิ/สมาคม/สหกรณ์ ต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวขางต้นมีดังนี้

  1. ข้อบังคับ
  2. รายงานการประชุมแต่งตั้งผู้จัดการ หรือหนังสือจัดตั้งฯ หรือหนังสือรับรองการประชุม

 

กรณีนายจ้างที่เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือรับเหมาค่าแรง ให้แนบสัญญาว่าจ้างเพิ่มเติมด้วย

สำหรับลูกจ้าง

  1. แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03)
  2. สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นซึ่งทางราชการออกให้ หรือสำเนาใบอนุญาตทำงานและสำเนาหนังสือเดินทาง หรือสำเนาใบอนุญาตทำงานและสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

 

การกรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้าง แบบฟอร์ม สปส.1-01, สปส.1-03

การกรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนนายจ้างก็ไม่มีไรยากเลย ก่อนอื่นก็ไปดาวน์โหลดแบบฟอร์ม สปส.1-01 (แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง) จากนั้นก็กรอกข้อมูลข้อที่ 1 – 7 ของนายจ้าง ตามไฟล์ตัวอย่างนี้ได้เลย  แล้วก็ให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามเซ็นพร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี) พร้อมเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นสำหรับนายจ้างดังกล่าวข้างต้นทุกหน้า

เมื่อนายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้างสำเร็จแล้วก็จะได้ “เลขที่บัญชี” นายจ้าง เพื่อนำไปใช้ในการลงทะเบียนนายขอทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ต หลังจากลงทะเบียนสำเร็จท่านก็จะสามารถยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้ลูกจ้าง พร้อมทั้งส่งข้อมูลเงินสมทบ หรือจะนำส่งเงินสมทบโดยการชำระเงินด้วยระบบ e-payment ก็ได้

กรณีการยื่นแบบขึ้นทะเบียนลูกจ้างผ่านสำนักงานประกันสังคม นายจ้างสามารถไปดาวน์โหลดแบบฟอร์ม สปส.1-03 (แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน) และกรอกตามคำแนะนำการกรอกแบบในหน้า 2 และแนบเอกสารสำหรับลูกจ้างดังกล่าวข้างต้น หมายเหตุ: สำนักงานประกันสังคมให้ใช้แบบฟอร์ม สปส.1-03 แบบเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตนใหม่ (ลูกจ้างที่ยังไม่เคยเข้าสู่ระบบประกันสังคม) หรือผู้ประกันตนเก่า (ลูกจ้างที่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาแล้ว) ซึ่งแต่เดิมผู้ประกันตนเก่าต้องกรอก สปส.1-03/1

 

กรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างเสร็จแล้วจะไปยื่นแบบขึ้นทะเบียนที่ไหน?

นายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นแบบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

นายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ในส่วนภูมิภาค ยื่นแบบได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่

หากมีข้อสงสัยตรงไหนสามารถโทรปรึกษา 1506 (สายด่วนสำนักงานประกันสังคม)ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ทางประกันสังคมมีกฎระเบียบและข้อปฎิบัติอีกมากมาย ที่เราจะมาอั๊พเด็ดไว้ที่นี่ในตอนต่อๆ ไปนะคะ หากต้องการให้เราช่วยดำเนินการให้ กดตรงนี้ เพื่อติดต่อทีมงานเพื่อรับคำปรึกษาได้เลยคะ

ที่มาและข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซด์สำนักงานประกันสังคม

 

Social Security Fund Thailand

2 Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *